กรรมวิธีการบ่มทุเรียนหมอนทองให้ได้มาตรฐานการส่งออก ช่วยลดความเสียหาย ปริแตกของผลทุเรียนจากการใช้ปริมาณสารเร่งสุกที่ไม่เหมาะสม ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคปลอดภัยจากสารตกค้าง ช่วยเพิ่มปริมาณการส่งออกทุเรียนไทยและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้
“เอทีฟอน” เป็นสารเคมีที่เกษตรกรหรือผู้ส่งออกทุเรียนใช้เพื่อกระตุ้นการสุกของผลทุเรียน แต่หากใช้ในปริมาณที่มากเกินไปก็จะทำให้มีสารตกค้างที่เป็นอันตรายต่อระบบประสาท เกิดความเสียหายต่อผลทุเรียน เปลือกปริแตกไม่สามารถจำหน่ายได้ ซึ่งมาตรฐานการส่งออกกำหนดไว้ให้ตกค้างได้ไม่เกิน 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในขณะที่บางครั้งสารตกค้างในทุเรียนจากประเทศไทยยังมีค่าเกินมาตรฐาน จึงทำให้ปริมาณการส่งออกในปี 2558 ชะลอตัวลง เนื่องจากความเข้มงวดของประเทศที่นำเข้าทุเรียนจากไทยโดยเฉพาะประเทศจีน
องค์ความรู้/เทคโนโลยี “การบ่มทุเรียนให้ได้มาตรฐานส่งออก” ช่วยให้เกษตรกรผู้เพาะปลูกและผู้ส่งออกทุเรียนสามารถใช้สารเอทีฟอนในปริมาณและจำนวนครั้งที่เหมาะสม โดยเป็นกรรมวิธีที่ปลอดภัย มีสารตกค้างไม่เกินค่ามาตรฐานและควบคุมการสุกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เปลือกทุเรียนแตกช้าลง เมื่อเผยแพร่สู่สาธารณชนแล้วส่งผลให้การส่งออกในช่วง 7 ปี ตั้งแต่ปี 2557-2563 สามารถส่งออกทุเรียนในปริมาณที่มากขึ้น 1.68 เท่า โดยที่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากถึง 5.2 เท่า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดโลกมีความมั่นใจในคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยของทุเรียนไทย
ต้องการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรผู้เพาะปลูกและผู้ส่งออกทุเรียน รวมถึงผู้สนใจทั่วไป