วิธีการเพาะปลูกมะเขือเทศเชอรี่ในโรงเรือนที่สามารถสร้างรายได้สูง
สุพรรณบุรีโมเดลเป็นหนึ่งในโครงการ 76 จังหวัด 76 โมเดล ที่สร้างรายได้สูงจากการปรับปรุงระบบการทำเกษตรตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีเกษตรกรต้นแบบปลูกมะเขือเทศเชอรี่ในโรงเรือน ใช้องค์ความรู้ การวางแผนการผลิตและเทคโนโลยีที่เหมาะสม ทันสมัยในการเพาะปลูก ซึ่งในปี 2566 สามารถสร้างรายได้สุทธิสูงถึง 306,275 บาท/ไร่ /ปี จึงเป็นโมเดลที่น่าสนใจ โดยเกษตรกรยินดีถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเพาะปลูกมะเขือเทศเชอรี่ ที่ประสบความสำเร็จนี้ให้แก่เกษตรกรและบุคคลที่สนใจเพื่อต่อยอดขยายความสำเร็จไปสู่พื้นที่อื่นๆ
เทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอด :
- โรงเรือน การเลือกชนิด การใช้วัสดุในการสร้างโรงเรือน และการตั้งให้เหมาะสมกับทิศทางของแสงแดดและลม
- การเพาะเมล็ด การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ วัสดุที่ใช้เพาะกล้า วิธีการเพาะเมล็ด
- การเตรียมแปลงปลูก ส่วนผสมของวัสดุปลูกที่เหมาะสมทั้งการปลูกลงดินและปลูกในกระถาง
- การเพาะปลูก อายุของต้นกล้าที่พร้อมย้ายลงปลูก ระยะหว่างระหว่างแถวที่เหมาะสม
- การดูแลรักษา เช่น ระบบการให้น้ำ การให้ปุ๋ย/ฮอร์โมนตามอายุของพืช การจัดการวัชพืชในแปลง เป็นต้น
- การกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช เช่น โรคเหี่ยวเขียว โรคใบด่าง โรครากปม หนอนกระทู้ เพลี้ยไฟ เป็นต้น
- การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังเก็บเกี่ยว ระยะเวลา วิธีการเก็บเกี่ยว การคัดแยกผลผลิตและการบรรจุลงภาชนะเพื่อจำหน่าย
- การตลาดและจัดจำหน่าย การหาแหล่งจัดจำหน่าย การวางแผนจำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆ
- ได้รับคัดเลือกให้เป็นโมเดลต้นแบบด้านการทำเกษตรรายได้สูงของจังหวัดสุพรรณบุรี
- การปลูกมะเขือเทศในโรงเรือนช่วยให้สามารถควบคุมปัจจัยต่างๆได้ เช่น แสง อุณหภูมิ ความชื้น ลดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช จึงทำให้ได้ผลผลิตที่สูง
- มีการคัดเลือกสายพันธุ์มะเขือเทศเชอรี่ที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศร้อน มีความหวาน มีกลิ่นหอม เก็บเกี่ยวได้นาน ให้ผลผลิตต่อต้นสูง
- มีการจัดการที่ทันสมัย ใช้ระบบให้น้ำอัตโนมัติ สั่งการผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่
- เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เรียนรู้ ศึกษาดูงานการผลิตมะเขือเทศเชอรี่
ผู้สนใจรับถ่ายทอดเทคโนโลยีควรมีคุณสมบัติ ดังนี้
- สภาพพื้นที่ สามารถเพาะปลูกได้แม้พื้นที่จำกัด
- แหล่งน้ำ ควรมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการปลูกพืชตลอดปีหรือมีแหล่งน้ำเสริม เช่น อยู่ในเขตชลประทาน มีน้ำบาดาล เป็นต้น
- เงินทุน ประมาณ 150,000 บาท/โรงเรือน